โรคซึมเศร้า และ ภาวะซึมเศร้า ความแตกต่างที่ทุกคนควรรู้

โรคซึมเศร้า และ ภาวะซึมเศร้า
โรคซึมเศร้า และ ภาวะซึมเศร้า ที่หลายๆคน ก็ยังไม่รู้ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร จนในบางครั้งทำให้เกิดความสับสนของทั้งสองด้าน และเกิดความเข้าใจในความแตกต่างที่ยังไม่รู้อย่างแน่ชัด ในวันนี้ Mental Well Clinic จะพามารู้จัก โรคซึมเศร้า และ ภาวะซึมเศร้า ความแตกต่างที่ทุกคนควรรู้ รวมทั้งสาเหตุ และแนวทางการรักษาที่สามารถเข้าใจได้ง่ายๆ มาฝากทุกคนกัน

 

โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder – MDD) เป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง ที่จะมีลักษณะอาการซึมเศร้าที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และรุนแรงจนทำให้ส่งผลกระทบต่อการทำงาน การเรียน รวมทั้งชีวิตประจำวันของผู้ป่วยอีกด้วย โดยที่อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นอย่างน้อยสองสัปดาห์ขึ้นไป และรวมถึงความรู้สึกเศร้าที่รุนแรง ทำให้หมดความสนใจในกิจกรรมที่เคยชอบ รู้สึกหมดพลังงาน หรือมีปัญหาในการนอนหลับเป็นระยะเวลาติดต่อกันเป็นเวลานาน จนไม่สามารถทำในสิ่งที่เคยทำได้ เกิดผลกระทบทั้งตัวบุคคลเอง รวมทั้งถึงคนรอบข้างอีกด้วย

ภาวะซึมเศร้า (Depressive Symptoms) เป็นภาวะที่มีลักษณะอาการซึมเศร้าที่ไม่รุนแรง และไม่ต่อเนื่องเหมือนกันกับโรคซึมเศร้าข้างต้น โดยที่ภาวะซึมเศร้าอาจเกิดขึ้นชั่วคราว และมีสาเหตุมาจากเหตุการณ์ในชีวิตที่สามารถพบเจอได้ง่ายๆ เช่น ความเครียด การสูญเสียคนที่รัก ปัญหาทางการงาน ปัญหาทางการเรียน ปัญหาทางความสัมพันธ์ เป็นต้น โดยที่จะไม่มีระยะเวลานานเท่ากับโรคซึมเศร้า และมีระยะเวลาในการฟื้นตัวในภาวะนี้ได้ไวกว่า รวมทั้งอาจไม่ส่งผลกระทบต่อตัวเอง ต่อการเรียน การงาน หรือบุคคลรอบข้างมากนัก

โรคซึมเศร้า และ ภาวะซึมเศร้า

สาเหตุของโรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder – MDD)
  • พันธุกรรม โดยความเสี่ยงของการป่วยโรคซึมเศร้า อาจสูงขึ้นมากกว่าคนทั่วไป หากมีประวัติสมาชิกในครอบครัวเคยป่วยโรคซึมเศร้ามาก่อน
  • สารเคมีในสมอง การไม่สมดุลของสารเคมีในสมอง ของสารสื่อประสาทในสมองที่อาจมีผลต่อความรู้สึก เช่น เซโรโทนิน (Serotonin) โดปามีน (Dopamin) โดยมางานวิจัย ที่ชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทในสมอง และปฏิสัมพันธ์ของสารดังกล่าวกับวงจรระบบประสาท อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะซึมเศร้า ซึ่งสำคัญต่อการรักษาเป็นอย่างมาก
  • ประสบการณ์ในชีวิต การเผชิญกับเหตุการณ์ที่เครียด หรือท้าทายในชีวิต เช่น การสูญเสียคนที่รัก การประสบปัญหาทางการงาน การประสบปัญหาทางการเรียน การเผชิญสถานการณ์ที่ท้าทายทางการเงิน เป็นต้น
  • การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน หากมีระดับฮอร์โมนที่ไม่สมดุล ก็อาจส่งผลต่อโรคซึมเศร้าได้ โดยอาการดังกล่าวนี้จะเกิดจาก การตั้งครรภ์ ระหว่างการคลอดบุตร ภาวะหลังหมดประจำเดือนในผู้หญิง หรือการเป็นโรคไทรอยด์ ก็มีส่วนทำให้อารมณ์แปรปรวน และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้
  • ลักษณะนิสัยส่วนตัว ในบางรายก็มีแนวคิดที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ เช่น การคิดลบต่อตัวเอง หรือสิ่งรอบข้าง ไม่มองในข้อดีตัวเอง พยายามหาจุดด้อยตัวเองมาคิดซ้ำๆ การเสพสื่อโซเชียล และมักเปรียบเทียบชีวิตตัวเอง กับคนที่อยู่โลกออนไลน์
  • ขาดการดูแลตัวเอง โดยรวมคนส่วนใหญ่มักจะมองข้ามในจุดนี้อย่างเห็นได้ชัด เช่น การพักผ่อนน้อยกว่าเวลาที่เพียงพอ การนอนพักผ่อนน้อยกว่า 7-8 ชั่วโมงต่อวัน การขาดการออกกำลังกาย การไม่ได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์อย่างเพียงพอ ถือเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่สามารถทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน

โรคซึมเศร้า และ ภาวะซึมเศร้า

สาเหตุของภาวะซึมเศร้า (Depressive Symptoms)
  • เหตุการณ์ในชีวิตที่ได้พบเจอ โดยมีประสบการณ์ในเหตุการณ์ในชีวิตที่รุนแรง หรือสะเทือนใจต่อตัวเอง เช่น การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก การลาออกจากงานที่ทำมานาน การจบความสัมพันธ์กับบุคคลต่างๆ การดูภาพยนตร์ที่มีเหตุการณ์สะเทือนใจต่อตัวเอง การถูกปฏิเสธจากสังคมรอบตัว เกิดความขัดแย้งจากครอบครัว หรือมาจากประสบการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียดสูง ก็สามารถเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าในขณะนั้นได้
  • ภาวะเศรษฐกิจ ทั้งในการทำงาน หรือภาวะเศรษฐกิจในแต่ละวัน เช่น ความเครียดจากการทำงาน การตกงาน หรือความยากลำบากทางการเงิน อาจทำให้เกิดความเครียดสะสมจนนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า
  • การใช้ยา หรือสารเสพติดบางชนิด เช่น การใช้ยาลดความดัน การใช้ยานอนหลับ หรือการใช้สารเสพติดต่างๆ การดื่มสุรา เป็นต้น
อาการที่พบในโรคซึมเศร้า และภาวะซึมเศร้า

อาการของโรคซึมเศร้า มักจะมีความรุนแรง และมีผลกระทบต่อชีวิตวัน โดยมีอาการที่พบบ่อย เช่น

  • รู้สึกเศร้า หดหู่ หรือหงุดหงิดได้ง่าย
  • มีความรู้สึกไร้คุณค่าในตัวเอง หรือไม่อยากชื่นชมในตัวเอง
  • จากที่เคยชอบอะไร ก็ไม่ชอบเหมือนเดิม
  • มีสมาธิ หรือมีความจำลดลง
  • รู้สึกไร้เรี่ยวแรง เหนื่อยง่าย หรืออ่อนเพลียกว่าปกติ
  • ทำสิ่งต่างๆ ได้ช้าลง เช่น จากที่เคยทำงานตรงเวลา ก็ไม่ทันเวลา หรือมีการตื่นสายเป็นประจำ
  • มีอาการนอนไม่หลับ หรือนอนหลับมากกว่าปกติ
  • เบื่ออาหาร จนทำให้น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว
  • ไม่อยากมีชีวิตอยู่ เริ่มทำร้ายตัวเอง หรือมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย

อาการของภาวะซึมเศร้า มักจะไม่รุนแรงเท่าโรคซึมเศร้า และเกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น โดยมีอาการที่พบบ่อย เช่น

  • รู้สึกเศร้า หรือหดหู่ในบางช่วงเวลา
  • อาจมีปัญหาในการนอนหลับ หรือมีความรู้สึกที่เหนื่อยง่ายกว่าปกติ
  • มีความคิดที่มีแต่ด้านลบ หรือความคิดแง่ลบ รวมไปถึงความรู้สึกหมดหวังในเรื่องต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง
  • ไม่อยากพบปะผู้คน หรือมีความรู้สึกอยากอยู่คนเดียว
  • ทานอาหารน้อยลงในบางมื้อ
  • เบื่อง่าย หรือหงุดหงิดง่ายกว่าปกติ

โรคซึมเศร้า และ ภาวะซึมเศร้า

ช่วงวัยที่สามารถเกิดโรคซึมเศร้า หรือภาวะซึมเศร้าได้
  • ในช่วงวัยเรียน หรือวัยรุ่น การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ และอารมณ์ในช่วงวัยรุ่น สามารถเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้าได้ รวมทั้งสภาพแวดล้อมโรงเรียน การคบเพื่อน หรือครอบครัวที่ขาดความใส่ใจ หรือการเลี้ยงดูที่ไม่เป็นที่ปลอดภัยแก่เด็ก
  • ในช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น เกิดจากเริ่มต้นทำงาน การที่ต้องเผชิญกับความรับผิดชอบใหม่ หรือการสร้างครอบครัว สามารถทำให้เกิดความเครียด และรวมไปถึงภาวะซึมเศร้าได้
  • ในวัยกลางคน การเผชิญ หรือต้องพบเจอกับความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ ปัญหาสุขภาพ หรือการสูญเสียคนที่รัก อาจสามารถเพิ่มความเสี่ยงในโรคซึมเศร้าได้ รวมทั้งปัญหาหลังเกษียณอายุจากงาน จากที่เคยทำงานทุกวัน แล้วไม่ต้องไปทำงาน ก็อาจเกิดความเบื่อหน่าย เครียดสะสม จนนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า หรือโรคซึมเศร้าได้
  • ในวัยสูงอายุ ความโดดเดี่ยว การสูญเสียความสามารถทางกายภาพ หรือการสูญเสียคนใกล้ชิด สามารถเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าในวัยสูงอายุได้เช่นเดียวกัน
แนวทางในการรักษาโรคซึมเศร้า และภาวะซึมเศร้า
  • การบำบัดด้วยยา สำหรับโรคซึมเศร้า อาจมีการใช้ยาต้านซึมเศร้า (Antidepressants) เพื่อปรับสมดุลของสารเคมีในสมอง ยาที่ใช้บ่อยได้แก่ SSRIs (Selective Serotonin Reuptake Inhibitors) และ SNRIs (Serotonin-Norepinephrine Reuptake Inhibitors)
  • การบำบัดทางจิตวิทยา/ หรือการทำจิตบำบัด การบำบัดทางจิตวิทยา เช่น การบำบัดพฤติกรรมและความคิด (Cognitive Behavioral Therapy – CBT) สามารถช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้วิธีการจัดการกับความคิดและพฤติกรรมที่ส่งผลต่ออาการซึมเศร้า
  • การบำบัดด้วยการพูดคุย การพูดคุยกับนักจิตวิทยาหรือนักบำบัดสามารถช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายใจ และได้รับแนวทางที่เป็นประโยชน์ในการจัดการกับอารมณ์
  • การบำบัดด้วยการออกกำลังกาย การออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะสามารถช่วยเพิ่มระดับเอนโดรฟิน (Endorphins) ที่ทำให้รู้สึกดีขึ้นและลดอาการซึมเศร้าได้
ข้อแตกต่างของโรคซึมเศร้า และภาวะซึมเศร้า
  • ความรุนแรงของอาการ โรคซึมเศร้าจะมีอาการที่รุนแรง และต่อเนื่องนานกว่า ในขณะที่ภาวะซึมเศร้ามักจะมีอาการชั่วคราว และไม่รุนแรงเท่ากับโรคซึมเศร้า
  • ระยะเวลา โรคซึมเศร้ามักเกิดขึ้นเป็นเวลานานอย่างน้อยสองสัปดาห์หรือนานกว่านั้น ในขณะที่ภาวะซึมเศร้าอาจเกิดขึ้นเป็นช่วงเวลาสั้นๆ
  • ผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน โรคซึมเศร้าส่งผลกระทบต่อการทำงาน การเรียน และชีวิตประจำวันมากกว่า ภาวะซึมเศร้า
  • การรักษา โรคซึมเศร้าต้องการการรักษาที่ต่อเนื่องและการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญในขณะที่ภาวะซึมเศร้าอาจสามารถจัดการได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตหรือการพูดคุยกับคนใกล้ชิด

โรคซึมเศร้า และ ภาวะซึมเศร้า

ที่ Mental Well Clinic เรามีทีมนักสุขภาพจิต นักจิตวิทยาที่มากประสบการณ์พร้อมที่จะให้คำปรึกษา และรวมไปถึงการรักษาสำหรับผู้ที่ประสบปัญหาโรคซึมเศร้า และภาวะซึมเศร้า โดยออกแบบใช้วิธีการบำบัดรักษาด้วยกระบวนการที่เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละคน

หากคุณกำลังรู้สึกว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดกำลังประสบปัญหาซึมเศร้าหรือภาวะซึมเศร้า สามารถติดต่อ Mental Well Clinic เพื่อรับคำปรึกษา และการรักษาจากทีมนักสุขภาพจิต นักจิตวิทยาได้เช่นกัน

บทความเพิ่มเติม